วันนี้จะมาแนะนำข้อมูลฐานรากบ้านน็อคดาวน์ให้ผู้ที่สนใจบ้านน็อคดาวน์ ได้รู้จัก ระบบฐานรากสำหรับบ้านน็อคดาวน์กันครับ โดยบ้านหรืออาคารทุกหลัง จะต้องมีระบบฐานรากรองรับ เพื่อที่จะได้กระจายน้ำหนัก ลงสู่พื้นดิน อย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำให้ตัวบ้านเอียง อีกทั้งยังป้องกัน ไม่ให้ แรงยกแรงผลักที่เกิดจากลมล้มพังตัวบ้านได้

ฐานรากคืออะไร?

ฐานราก หรือในภาษาอังกฤษที่เราเรียกว่า Foundation คือโครงสร้างที่อยู่ใต้ผิวดินที่ใช้รองรับการถ่ายเทน้ำหนักของตัวบ้านผ่านเสาลงมาที่ตัวฐานราก และคุณสมบัติของดินที่รองรับฐานรากได้จะต้องมีความสามารถในการรับน้ำหนักของตัวบ้านและดินที่อยู่ใต้ฐานรากจะต้องไม่พังทลายซึ่งไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการทรุดตัวของฐานรากส่งผลเสียหายต่อโครงสร้างบ้านได้

อย่าสับสนระหว่างคำว่า ฐานราก(Foundation) และ ฟุตติ้ง(Footing) โดยฐานราก (Foundation) จะเป็นโครงสร้างที่ใช้ถ่ายเทน้ำหนักของโครงสร้างบ้านลงดิน ส่วนฟุตติ้ง(Footing) จะเป็นฐานล่างส่วนที่สัมผัสกับดินโดยตรง ซึ่งฟุตติ้งจะนี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของฐานรากแบบตื้นนั่นเอง (ฐานแผ่)

เตรียมฐานราก บ้านน็อคดาวน์

มีฐานรากแบบไหนบ้าง แต่ละแบบเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปฐานรากจะถูกแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ ฐานรากแบบตื้น และฐานรากแบบลึก ซึ่งจะพิจารณาได้จาก ชนิดของดิน ว่าสามารถรับน้ำหนักโครงสร้างได้ขนาดไหน มาดูรายละเอียดกันครับ

ฐานรากแบบตื้น (Shallow Foundation)

ฐานรากแบบตื้นนี้จะเป็นแบบที่ไม่มีเสาเข็มรองรับ จะเหมาะกับสภาพดินที่มีความสามารถในการบรรทุกน้ำหนักได้มาก สามารถใช้ผิวดินชั้นบนรับน้ำหนักโครงสร้างอาคารได้อย่างปลอดภัย หรือดินที่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเจาะเสาเข็มได้ (หรือเจาะยากมากๆเพราะดินแข็งเกินไป) ตัวอย่างของดินอย่างเช่น ดินภูเขา ดินลูกรัง เป็นต้น

ส่วนมากบ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียวหรือยกสูงขนาดกลาง(ที่จะวางในพื้นที่ดินแข็ง) จะนิยมใช้ฐานรากแบบฐานแผ่เดี่ยว(Spread Footing) เนื่องจากจะเป็นฐานรากที่รับน้ำหนักจากเสาเพียงต้นเดียว หมายความว่าถ้าบ้านน็อคดาวน์นั้นมีเสาบ้าน 6 เสา ก็จะมีการออกแบบฐานรากให้เป็นแบบฐานแผ่เดี่ยวจำนวน 6 ฐานเพื่อรองรับเสาทั้ง 6 นั้นเอง

ฐานแผ่ ฐานรากตื้น

ฐานรากแบบลึก (Deep Foundation)

ฐานรากแบบลึกจำเป็นจะต้องมีเสาเข็มรองรับ เพราะว่าชั้นดินที่สามารถรองรับน้ำหนักได้มากปลอดภัยอยู่ลึกลงไปจากผิวดินมาก อย่างเช่นในพื้นที่ดินอ่อน พื้นที่ดินเหนียว อย่างพื้นที่ในภาคกลางของไทย เป็นต้น ซึ่งความยาวของเสาเข็มก็จะขึ้นอยู่กับความลึกของชิ้นดินทรายที่สามารถรับแรงกดได้โดยไม่ทรุด, น้ำหนักอาคาร และจำนวนเสาที่ใช้ในการกระจายน้ำหนัก

และกรณีเดียวกันถ้ามีการติดตั้งบ้านน็อคดาวน์ในบริเวณดินอ่อนก็สามารถใช้ฐานรากแบบฐานแผ่เดี่ยวมาใช้รับน้ำหนักจากเสาบ้านได้เช่นกันเพียงแต่ว่าจะต้องมีการตอกหรือเจาะเสาเข็มให้เรียบร้อยก่อนวางฐานแผ่เดี่ยวนี้บนเสาเข็มอีกที

กดเสาเข็ม ฐานรากแบบลึก

ฟุตติ้งบ้านน็อคดาวน์ เป็นอย่างไร?

ภาษาช่างทั่วไปจะเรียกการทำฐานรากให้บ้านน็อคดาวน์ว่า ฟุตติ้งบ้านน็อคดาวน์ คือ การทำฐานรากของบ้านน็อคดาวน์นั่นเอง หรือที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆว่า การเทฟุตติ้ง โดยส่วนประกอบของการทำฐานรากสามารถดูได้ตามรูปข้างล่างนี้เลย

เทฟุตติ้ง Footing

จากรูปเราจะเห็นส่วนประกอบของฐานรากคร่าวๆ ดังนี้ คือ ตีแบบเทฟุตติ้ง, ตอม่อ, เหล็กตะกร้อ ฯลฯ

เหล็กตอม่อ

โดยการพิจาณาทำฐานรากจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตัวบ้านและลักษณะดินเป็นหลัก โดยดินแข็งจะรับน้ำหนักได้ 8-10 ตัน/ตรม ดินอ่อนจะต้องทำการลงเสาเข็มให้ยาวลงไปถึงชั้นดินแข็ง จะสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 15-50 ตัน/ต้น ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของเสาเข็มว่าเป็นชนิดใด คนออกแบบก็จะเอาน้ำหนักของตัวบ้านมาหารเฉลี่ยให้น้ำหนักเหมาะสมลงเสาเข็มแต่ละต้น และบวกเผื่อค่าเซพตี้แฟคเตอร์เข้าไปอีกเพื่อความปลอดภัย

หล่อเสาตอม่อ

หลักการสมมุติการรับน้ำหนักของดินคร่าวๆ เพื่อที่จะใช้ในการกำหนดขนาดของฐานรากแผ่

  • กรุงเทพฯ หรือโซนดินอ่อน ที่อยากจะใช้ฐานแผ่ ใช้ 2 ตัน/ตรม.
  • โซนใกล้ ภูเขา มองเห็นภูเขา หรือ ใกล้ทะเล ใช้ 12 ตัน/ตรม.
  • โซนภาคกลาง, ภาคเหนือ, อีสาน ใช้ 8 ตัน/ตรม.
  • โซนภาคตะวันออกโซน ชลบุรี, ระยอง ภาคใต้ ใช้ 10 ตัน/ตรม.

ถ้าเป็นลักษณะ บ้านน็อคดาวน์ชั้นเดียว ขนาดเล็ก น้ำหนักไม่เยอะ และชั้นผิวดินแข็ง ก็อาจจะวางบ้านน็อคดาวน์ขนาดเล็กๆนั้นบนสแลปปูนที่หนา 15-20 เซนติเมตรได้ (พื้น Slab ปูน เรียกว่า พื้นคอนกรีตที่วางบนดิน) ซึ่งก็จะมีการวางไวร์เมทตามสเปกที่กำหนด (Wire mate) ในการทำพื้นสแลปปูน

ตอม่อคืออะไร เกี่ยวข้องอะไรกับระบบฐานราก?

ตอม่อ คือ ส่วนของเสาขนาดสั้น ที่อยู่ล่างสุดระหว่างฟุตติ้งกับคานพื้นชั้นล่าง(กรณีมีคานคอดิน) มีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร และโดยทั่วไปเสาตอม่อจะจมอยู่ในดินระหว่างฟุตติ้งกับคานพื้น และจะวางอยู่เหนือฟุตติ้ง(ตีนช้าง) ที่เป็นตัวรับน้ำหนักมาจากเสาของบ้านเพื่อถ่ายน้ำหนักของตัวบ้านลงฐานรากและดินต่อไป

หล่อตอม่อ

เสาเข็มบ้านน็อคดาวน์

การพิจารณาใช้เสาเข็มสำหรับบ้านน็อคดาวน์นั้น จะพิจารณาจากน้ำหนักของตัวบ้านและชนิดของดินว่ารับน้ำหนักได้เท่าไหร่เป็นหลัก ถ้ากรณีดินอ่อนมาก และตัวน้ำหนักบ้านน็อคดาวน์เยอะ ก็จะต้องใช้เสาเข็มตอกลงไปจนถึงชั้นดินแข็ง เพื่อให้เป็นตัว รับน้ำหนักไม่ให้บ้านทรุด แต่ถ้าเป็นอาคารชั่วคราว(ที่จะมีการรื้อถอน/ย้ายในอนาคต) ก็อาจจะพิจารณาใช้เสาเข็มสั้นก็ได้ตามแต่ที่วิศวกรคำนวณไว้ในระยะปลอดภัย

เสาเข็มที่นิยมใช้กับบ้านน็อคดาวน์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากจะมีหลายแบบ อย่างเช่น คอนกรีตเข็มเจาะ เสาเข็มเหล็ก(หมุนเกลียวเจาะลงดิน ราคาสูงหน่อย แต่รับแรงได้มาก ระบบแห้งทำงานได้ง่ายและเร็ว) เสาไมโครไพล์(ใช้การตอก) เสาเข็มรูปตัวไอ เสาเข็มหกเหลี่ยม เสาเข็มสปันไมโครไพล์ ซึ่งก็จะมีหลายขนาดและสามารถบรรทุกน้ำหนักได้แตกต่างกันไป เป็นต้น

แบบฐานรากบ้านน็อคดาวน์ / รับทำฐานรากบ้านน็อคดาวน์

ทางวิศวกรผู้ออกแบบผลิตบ้านน็อคดาวน์จะมีการออกแบบฐานรากบ้านน็อคดาวน์เตรียมให้ไว้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้ติดต่อช่างที่อยู่ในท้องถิ่นเพื่อเตรียมระบบฐานรากไว้ให้ เนื่องมาจากการเตรียมฐานรากจะต้องใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ วัด ดิ่ง ขุด เตรียมเหล็กตะกร้อ เทลีน หล่อฟุตติ้ง หล่อตอม่อ จะต้องใช้เวลาหลายวัน ถ้าให้ช่างในพื้นที่ทำลูกค้าจะลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า แต่ส่วนมากบริษัทที่รับสร้างบ้านก็จะมีบริการส่วนนี้อยู่แล้วแต่ราคาอาจจะแพงกว่าช่างในพื้นที่เพราะต้องมีเดินทาง คนงานต้องค้างที่หน้างานหลายวัน ฯลฯ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันเป็นทางเลือก

วิธีการเลือกระบบฐานรากสำหรับบ้านน็อคดาวน์

ฐานรากบ้านน็อคดาวน์
ตัวอย่างแบบฐานราก ฐานแผ่

ในเบื้องต้น วิศวกรผู้ออกแบบบ้านน็อคดาวน์ จะสอบถามเรื่องโซนพื้นที่ที่จะทำการติดตั้งบ้านน็อคดาวน์ เพื่อที่จะได้รู้คร่าวๆว่าดินโซนนั้นสามารถรับน้ำหนักได้กี่ตันต่อตารางเมตร และอาจจะมีการสอบถามนายช่างที่ อบต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบขนาดในการรับน้ำหนักของดิน (ถ้าน้ำหนักบ้านน็อคดาวน์ไม่ได้มากเหมือนบ้านปูนอาจจะไม่ต้องทดสอบดิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิศวกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด) จากนั้นผู้ออกแบบก็จะคำนวณ น้ำหนักที่จะลงฐานรากแต่ละต้นประมาณเท่าไหร่ แล้วก็ออกแบบแปลนเพื่อที่จะ ใช้สำหรับส่งให้ผู้รับเหมาทำฐานรากตามแบบต่อไป

สรุป

ไม่ต้องกังวลเรื่องการทำฐานรากของบ้านน็อคดาวน์ เพราะว่า ทางบริษัท พาร์เซอร์วิสแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก็จะมีบริการในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าลูกค้าสามารถหาช่างในพื้นที่ได้ค่าใช้จ่ายในการสร้างฐานรากก็จะประหยัดหน่อยครับ